วิธีลบไดรฟ์ System Reserved 500MB บน Windows 10 ด้วย Diskpart

1
11536
วิธีลบไดรฟ์ System Reserved 500MB บน Windows 10 ด้วย Diskpart
วิธีลบไดรฟ์ System Reserved 500MB บน Windows 10 ด้วย Diskpart

สำหรับวิธีลบไดรฟ์ System Reserved 500MB บน Windows 10 ด้วย Diskpart

ที่ว่านี้ จะใช้กับ Windows 10 Build 15019 ซึ่ง build ล่าสุดนี้ สงสัยพี่บิลเกตเขาคงพัฒนาเยอะเกินไปหน่อยจนลืมใส่ขั้นตอนการลบไดรฟ์ System Reserved แบบง่ายๆเข้าไปกระมัง ส่วนตัวที่เจอ เราจะไม่สามารถลบไดรฟ์ System Reserved ในขั้นตอนของการติดตั้ง Windows 10 ได้ตามวิธีการต่างๆที่ทางเว็บได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ โดยถ้าลบไปแล้วก็จะเจอกับ Error code 0x80070070 แต่ถ้าไม่ลบ ก็จะสามารถเลือกไดรฟ์ที่ต้องการแล้วติดตั้ง Windows 10 ได้ตามปกติ แต่.. ในทางมืดมนที่ถูกจับมัดมือชก ไมโครซอฟท์ก็ไม่มีทางขวางทางสำหรับขาจรที่ชอบตัดไดรฟ์หรือพาร์ทิชั่น System Reserved 500MB ตัวนี้ได้ วันนี้เราจะมาดูกันว่าจะสามารถตัดไดรฟ์นี้ทิ้งไปได้อย่างไร

วิธีนี้ยังรองรับทั้ง Windows 7, Windows 8, Windows 8.1 ได้ด้วยนะ

Note. ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความบังเอิญเฉพาะผมคนเดียวหรือเปล่าที่เจอปัญหานี้ แต่ติดตั้ง Windows 10 build 15019 ไป 2 เครื่องกับ 1 VMWare ก็เจอปัญหาเดียวกัน หากเพื่อนๆท่านใดได้ลอง Build 15019 ตัวล่าสุดนี้แล้ว และตัดไดรฟ์ System Reserved 500MB ด้วยวิธีปกติได้ รบกวนแจ้งผมด้วย ผมจะได้ลบบทความนี้ทิ้ง ป้องกันการขายหน้าครับ อิอิกำ

หน้าที่การทำงานหลักๆของไดรฟ์ System Reserved

จะเอาไว้สำหรับการเข้ารหัสข้อมูลในพาร์ทิชั่นหรือเรียกเป็นภาษาปะกิดว่า BitLocker และจะเป็นการกำหนดค่าเริ่มต้นกระบวนการบูตของระบบปฏิบัติการ Windows มาไว้ที่ไดรฟ์นี้ โดยไดรฟ์ตัวนี้จะมีมาให้ก็ต่อเมื่อเราติดตั้ง Windows ตามปกติ และจะเห็นได้ผ่านหน้าต่าง Computer Management (Disk Management) แต่สำหรับคอมพิวเตอร์บางยี่ห้อหรือโน๊ตบุ๊คบางยี่ห้อ เมื่อมีการติดตั้ง Windows เสร็จเรียบร้อยก็จะมีไดรฟ์เพิ่มขึ้นมาอีก 4 ไดรฟ์ (พาร์ทิชั่น) ได้แก่ System Reserved Partition, Recover Partition, Latitude on Partition และ OS Partition) ทั้งนี้หลายๆท่านอาจจะยังงงอยู่ว่า แล้วเราจะตัดไดรฟ์นี้ทิ้งได้ไหม คำตอบคือ ตัดได้ ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน BitLocker แต่จะมีผลกระทบอะไรมั้ย คำตอบคือ ไม่มี เพราะเมื่อเราตัดไดรฟ์ System Reserved ออกไปแล้ว ระบบจะทำการสร้างโฟลเดอร์ Boot เอาไว้ที่ไดรฟ์ C แทน แต่โฟลเดอร์นี้จะถูกซ่อนเอาไว้ จะมองเห็นได้ก็ต่อเมื่อมีการเปิดโชว์ไฟล์ซ่อนของระบบปฏิบัติการขึ้นมาเท่านั้น หรือจะอยู่ที่ C:\Boot นั่นเอง

วิธีการตัดไดรฟ์ System Reserved 500MB นี้

ส่วนใหญ่จะเหมาะสำหรับกลุ่มงานบางกลุ่ม ตลอดจนถึงช่างคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นต้องทำไฟล์อิมเมจโคลน Windows ทั้งไดรฟ์ให้เป็นไฟล์มาสเตอร์ด้วยซอฟต์แวร์ Symantec Ghost สำหรับโคลนลงบนฮาร์ดดิสก์ในเครื่องของลูกค้า หรือเพื่อนๆที่ต้องการโคลนเป็นไฟล์อิมเมจ Ghost เอาไว้ เผื่อ Windows มีปัญหาในภายภาคหน้า เช่น ติดไวรัส ก็จะสามารถโคลนระบบต้นฉบับกลับมาใช้ได้เหมือนเดิม โดยไม่ต้องเสียเวลาติดตั้ง Windows + Programs ต่างๆใหม่ ส่วนปัญหาถ้าเราไม่ตัดไดรฟ์ System Reserved ตัวนี้ออก ระบบ Windows ก็จะไม่สามารถบูตได้นั่นเอง เพราะเราจะใช้แค่ไดรฟ์ C ไดรฟ์เดียว และสามารถบูตเข้าระบบได้ตามปกติ หรืออีกกรณี หากไม่ตัดไดรฟ์ตัวนี้ออก แต่ต้องการโคลน Windows ต้นฉบับเก็บไว้ใช้ก็สามารถทำได้ แต่ต้องใช้ซอฟต์แวร์ Acronis True Image มาโคลนฮาร์ดดิสก์ทั้งลูกเท่านั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมทดสอบเฉพาะคอมพิวเตอร์เดสก์ทอปเท่านั้น ยังไม่ได้ทดสอบบนคอมพิวเตอร์พีซีแบรนด์หรือโน๊ตบุ๊คบางรุ่นที่จะมีไดรฟ์เพิ่มเข้ามาอีก 2 ไดรฟ์ (พาร์ทิชั่น/Partition) นอกเหนือจากไดรฟ์ OS/ระบบปฏิบัติการ Windows ได้แก่ Recovery Partition และ Latitude on Partition ถ้าเพื่อนๆท่านใดทดสอบกับคอมพิวเตอร์รุ่นดังกล่าวแล้วได้ผล ได้โปรดแจ้งกลับมาด้วย จะดีไม่น้อยเลยครับ

สำหรับมือใหม่กรุณาอ่าน. ขั้นตอนเหล่านี้ สำหรับมือใหม่ต้องระวัง ถ้าไม่ศึกษาสังเกตไดรฟ์/พาร์ทิชั่นให้ดี ข้อมูลสำคัญอาจสูญหายทั้งหมด!

สำหรับการลบไดรฟ์หรือพาร์ทิชั่น System Reserved แบบเก่าที่หลายๆท่านเคยทำกันมา สามารถคลิกดูได้จากบทความ

และวิธีการใช้คำสั่ง Diskpart ในบทความนี้ เราจะแบ่งการจัดการกับฮาร์ดดิสก์ไว้ 3 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 ฮาร์ดดิสก์ที่เพิ่งซื้อมาใหม่ ยังไม่เคยมีการแบ่งพาร์ทิชั่น/ไดรฟ์หรือติดตั้ง Windows ใดๆมาก่อน

ประเภทที่ 2 ฮาร์ดดิสก์ที่เคยติดตั้ง Windows มาแล้ว แต่ไม่มีไดรฟ์ System Reserved มาก่อน

ประเภทที่ 3 ฮาร์ดดิสก์ที่เคยติดตั้ง Windows มาแล้ว และมีไดรฟ์ System Reserved 100MB สำหรับ Windows 7, 350MB สำหรับ Windows 8 – 8.1, 500MB สำหรับ Windows 10 มีไดรฟ์ C สำหรับติดตั้ง Windows และไดรฟ์เก็บข้อมูลไดรฟ์อื่นๆ

ทั้งประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 เราจะไม่ไปยุ่งกับไดรฟ์เก็บข้อมูลใดๆเด็ดขาด และใครยังไม่ทราบว่าไดรฟ์ System Reserved มีหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ลองย้อนกลับขึ้นไปดูรูปแรกบนสุด

ซึ่งวิธีการตัดไดรฟ์ System Reserved จากบทความข้างต้น เมื่อตัดไดรฟ์ดังกล่าวออกไป แล้วเลือกไดรฟ์เพื่อติดตั้ง Windows 10 ตามปกติ ใน % ที่ 1 ก็จะเจอกับข้อความ Windows cannot install required files. Make sure all files required for installation are available, and restart the installation. Error code: 0x80070070 และไม่สามารถติดตั้งต่อไปได้ ต้องปิดหน้าต่างนี้ แล้วเลือกไดรฟ์กับการติดตั้งแบบปกติเท่านั้น

Note. ย้อนกลับมาที่หน้าจอแรกสุดของการสั่งบูตด้วยแผ่นหรือ Windows 10 USB (การติดตั้ง Windows 10 ด้วยแฟลชไดรฟ์) ถ้าหากใครเลือก Time and currency format: เป็น Thai (Thailand) มาก่อน จำเป็นต้องรีสตาร์ทเครื่องแล้วบูตเข้ามาที่หน้าต่าง Windows Setup ใหม่ เพื่อตั้งค่าภาษาให้เป็น English (United States) เพราะเราจำเป็นต้องใช้แป้นพิมพ์ภาษาอังกฤษในขั้นตอนเหล่านี้ทั้งหมด เพราะถ้าเลือกเป็น Thai (Thailand) ไปแล้ว จะไม่สามารถใช้ปุ่มสลับภาษาได้

เมื่อกลับมาที่หน้าจอ Windows Setup ก็คลิกปุ่ม Install now ตามปกติ

ติ๊กเครื่องหมายถูก หน้าหัวข้อ I accept the license terms แล้วคลิก Next

คลิกเลือกหัวข้อ Custom: Install Windows only (advanced)

คำสั่งจัดการกับฮาร์ดดิสก์ ประเภทที่ 1

ฮาร์ดดิสก์ที่เพิ่งซื้อมาใหม่ ยังไม่เคยมีการแบ่งพาร์ทิชั่น/ไดรฟ์หรือติดตั้ง Windows ใดๆมาก่อน

พอถึงหน้าจอสำหรับเลือกไดรฟ์/พาร์ทิชั่น ให้กดปุ่มคีย์ลัด Shift + F10 เพื่อเปิดหน้าต่าง Command Prompt ขึ้นมา ซึ่งพระเอกสำหรับวิธีการทั้งหมดในบทความนี้ก็คือ Diskpart

/* คำสั่ง Diskpart จะเป็นคำสั่งสำหรับจัดการพาร์ทิชั่น/ไดรฟ์ของฮาร์ดดิสก์ก่อนติดตั้ง Windows ใหม่ ซึ่งมีมาให้กับแผ่น Setup หรือไฟล์อิมเมจ .ISO อยู่แล้ว มีใช้มาตั้งแต่ Windows 7 จนถึง Windows รุ่นปัจจุบัน ทั้งนี้คำสั่ง Diskpart ยังสามารถนำไปใช้กับ Command Prompt บน Windows ได้อีกด้วย */

คำสั่งดังรูป จะใช้สำหรับฮาร์ดดิสก์ลูกใหม่ที่เพิ่งซื้อมาใหม่ ซึ่งยังไม่เคยแบ่งพาร์ทิชั่นและเป็นฮาร์ดดิสก์ที่ยังไม่เคยใช้งานมาก่อน

ความหมายของคอมมานด์ไลน์แต่ละบรรทัด ได้แก่ ( การพิมพ์คำสั่งเหล่านี้ ใช้เป็นตัวพิมพ์เล็กก็ได้ )

  • DISKPART จะเป็นการเรียกคำสั่ง Diskpart ขึ้นมาจัดการกับพาร์ทิชั่น/ไดรฟ์บนฮาร์ดดิสก์
  • LIST DISK สั่งให้แสดงรายการดิสก์/ไดรฟ์/พาร์ทิชั่นทั้งหมดบนฮาร์ดดิสก์ลูกนี้
  • SELECT DISK 0 เลือกดิสก์/ไดรฟ์/พาร์ทิชั่นที่ต้องการจัดการ ถ้าเครื่องที่จะทำมีฮาร์ดดิสก์หลายลูก ก็จะโชว์เป็น Disk 0, Disk 1, Disk 2, ฯลฯ แต่ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ถอดฮาร์ดดิสก์ลูกอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องออก เพื่องป้องกันความสับสนและลบไดรฟ์หรือฟอร์แมตไดรฟ์ผิดลูก เพราะเครื่องของบางท่านอาจมีฮาร์ดดิสก์ขนาดเท่ากัน 2-3 ลูก และอาจจะสังเกตได้ยาก
  • CLEAN เป็นการลบไดรฟ์และข้อมูลบนฮาร์ดดิสก์ออกทั้งหมด
  • CREATE PARTITION PRIMARY SIZE=xxxxx เป็นการสร้างพาร์ทิชั่นแรกสุดบนฮาร์ดดิสก์หรือไดรฟ์ที่ต้องใช้ในการติดตั้ง Windows 10 และกำหนดขนาดไดรฟ์ มีหน่วยเป็น MB (เมกะไบต์) จากตัวอย่างกำหนดไว้ 54000MB ก็จะได้ประมาณ 54GB หรือใครต้องการขนาดเป๊ะๆก็เอาจำนวน GB ที่ต้องการ x 1024 = เอาผลลัพธ์ไปใส่
  • SELECT PARTITION 1 เป็นการเลือกไดรฟ์หรือพาร์ทิชั่นที่ได้สร้างด้วยคำสั่ง CREATE PARTITION สำหรับติดตั้ง Windows 10
  • ACTIVE เป็นการสั่งไดรฟ์นี้ให้ Active Partition เพราะถ้าไม่สั่ง Active เมื่อติดตั้ง Windows ผ่านไปบางขั้นตอน แล้วรีสตาร์ทระบบใหม่ จะไม่สามารถบูตได้
  • FORMAT FS=NTFS QUICK สั่งฟอร์แมตไดรฟ์ที่สร้างขึ้นให้มีรูปแบบไฟล์ซิสเต็ม (File System) เป็น NTFS และฟอร์แมตอย่างรวดเร็ว
  • ASSIGN LETTER=C เป็นการกำหนดให้ไดรฟ์นี้เป็นไดรฟ์ C หรือไดรฟ์ที่จะทำการติดตั้ง Windows
  • EXIT ออกจากคำสั่ง Diskpart
  • EXIT พิมพ์อีกครั้งเพื่อออกจากหน้าต่าง Command Prompt (ดังรูปด้านบนจะไม่มีเพราะพื้นที่ไม่พอ) หรือจะกด X ปิดหน้าจอนี้ไปเลยก็ได้

กดปุ่ม Refresh 1 ครั้ง ก็จะได้ Drive 0 Partition 1 สำหรับติดตั้ง Windows 10

เพิ่มเติมอีกนิด เนื่องจากวิธีการและคำสั่งด้านบน จะใช้สำหรับการสร้างพาร์ทิชั่นหรือไดรฟ์ C อย่างเดียว ส่วนไดรฟ์ D จะยังไม่ได้สร้างขึ้น ยังมีสถานะเป็น Unallocated Space แต่เราจะไปสร้างทีหลังเมื่อติดตั้ง Windows 10 เสร็จแล้ว ผ่าน Disk Management ก็ได้

หรืออีกกรณี กับรูปต่อมา จะมีคำสั่งเพิ่มเติมขึ้นมา โดยคำสั่งในกรอบสีแดง จะเอาไว้สำหรับให้เราสร้างไดรฟ์ D ด้วยคำสั่ง Diskpart ขึ้นมาให้เลย โดยที่ไม่ต้องเข้าไปสร้างใหม่ผ่าน Disk Management หลังติดตั้ง Windows 10 เสร็จแล้ว (ตรงนี้ถ้าใครเผลอไปทำตามคำสั่ง Diskpart ตัวแรกบนสุดแล้ว ต้องกดปุ่ม Shift + F10 กลับเข้ามาทำทุกขั้นตอนด้วยคำสั่ง Diskpart ใหม่ เพราะต้องใช้คำสั่งต่อเนื่องกัน

คำสั่งดังกล่าวก็จะได้แก่

  • CREATE PARTITION PRIMARY เป็นการสร้างพาร์ทิชั่น Primary ตัวที่ 2 (ถ้าต้องการสร้างไดรฟ์มากกว่า 2 ไดรฟ์ จำเป็นต้องใส่คำสั่ง SIZE=xxxx หรือขนาดของไดรฟ์ที่ต้องการตามเข้าไปด้วย แล้วทำวนซ้ำคำสั่ง 4 บรรทัดนี้จนกว่าจะจบที่ไดรฟ์สุดท้าย ไม่ต้องใส่คำสั่ง SIZE=xxxx)
  • SELECT PARTITION 2 เลือกพาร์ทิชั่นที่ 2
  • FORMAT FS=NTFS QUICK เป็นการสั่งฟอร์แมตเป็นระบบไฟล์ซิสเต็ม NTFS แบบรวดเร็ว
  • ASSIGN LETTER=D กำหนดให้ไดรฟ์นี้เป็นไดรฟ์ D

พอสร้างเสร็จแล้ว ก็กดปุ่ม Refresh 1 ครั้ง ก็จะโชว์ไดรฟ์ทั้ง 2 ขึ้นมา แล้วคลิกเลือก Drive 0 Partition 1 + กด Next ติดตั้ง Windows 10 ตามปกติ

———————————————————

คำสั่งจัดการกับฮาร์ดดิสก์ ประเภทที่ 2

ฮาร์ดดิสก์ที่เคยติดตั้ง Windows มาแล้ว แต่ไม่มีไดรฟ์ System Reserved มาก่อน

สำหรับกรณีนี้ จะใช้สำหรับฮาร์ดดิสก์ที่กำลังใช้งานอยู่ แต่ต้องการติดตั้ง Windows 10 ใหม่ และมีไดรฟ์เก็บข้อมูลมากกว่า 1 ไดรฟ์ เช่น ไดรฟ์ C, ไดรฟ์ D แต่ไม่มีไดรฟ์ SYSTEM RESERVED 500MB ซึ่งถ้าจะติดตั้ง Windows 10 ใหม่ เราจะต้องทำการฟอร์แมตเฉพาะไดรฟ์ C ไดรฟ์เดียว แต่ไดรฟ์ D หรือไดรฟ์อื่นๆเราจะไม่ไปยุ่งเกี่ยว

คอมมานด์ไลน์ที่ต้องใช้ ก็จะได้เป็นดังนี้

  • DISKPART เรียกใช้คำสั่ง Diskpart
  • LIST DISK แสดงจำนวนฮาร์ดดิสก์ทั้งหมด
  • SELECT DISK 0 เลือกฮาร์ดดิสก์ที่ต้องการจัดการ
  • LIST PARTITION แสดงจำนวนพาร์ทิชั่น/ไดรฟ์ทั้งหมดบนฮาร์ดดิสก์ลูกนี้
  • SELECT PARTITION 1 เลือกพาร์ทิชั่นที่ต้องการลบหรือฟอร์แมตใหม่ โดยปกติก็คือไดรฟ์ C และเป็นไดรฟ์ที่ได้ติดตั้ง Windows ตัวเก่าเอาไว้
  • FORMAT FS=NTFS QUICK สั่งฟอร์แมตเป็นระบบไฟล์ซิสเต็ม NTFS แบบรวดเร็ว
  • EXIT ออกจากคำสั่ง Diskpart
  • EXIT ปิดหน้าต่าง Command Prompt

ในส่วนของ LIST PARTITION จะใช้เป็น LIST VOLUME ก็ได้ และ SELECT PARTITION จะใช้เป็น SELECT VOLUME ก็ได้ แต่สำหรับมือใหม่อาจจะทำให้สับสน เพราะถ้าใช้คำสั่ง LIST VOLUME ทุกไดรฟ์ที่มีอยู่ในระบบ จะโชว์ออกมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น CD/DVD หรือแฟลชไดรฟ์ที่เสียบเอาไว้

และเราจะไม่ใช้คำสั่ง ACTIVE สำหรับวิธีการนี้ เพราะไดรฟ์ C หรือไดรฟ์ที่ติดตั้ง Windows มีการสั่ง ACTIVE เอาไว้ตั้งแต่ Windows ครั้งก่อนหน้านี้อยู่แล้ว

เมื่อจัดการกับพาร์ทิชั่นที่จะเอาไว้ติดตั้ง Windows 10 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็กลับมาที่หน้าจอเลือกไดรฟ์ ก็ให้กดปุ่ม Refresh 1 ครั้ง แล้วคลิกเลือก Drive 0 Partition 1 + กด Next ติดตั้ง Windows 10 ตามปกติ

———————————————————

คำสั่งจัดการกับฮาร์ดดิสก์ ประเภทที่ 3

ฮาร์ดดิสก์ที่เคยติดตั้ง Windows มาแล้ว และมีไดรฟ์ System Reserved 100MB สำหรับ Windows 7, System Reserved 350MB สำหรับ Windows 8 – 8.1, System Reserved 500MB สำหรับ Windows 10, มีไดรฟ์ C สำหรับติดตั้ง Windows และไดรฟ์เก็บข้อมูลไดรฟ์อื่นๆ

สิ่งที่เราต้องจัดการกับฮาร์ดดิสก์ประเภทที่ 3 ก็คือ การลบไดรฟ์ Drive 0 Partition 1 ซึ่งเป็นไดรฟ์ System Reserved และ Drive 0 Partition 2 เป็นไดรฟ์ที่ติดตั้ง Windows เพื่อรวมให้เป็นไดรฟ์เดียว

คำสั่ง Diskpart ที่ต้องใช้มีดังนี้

  • DISKPART เรียกใช้คำสั่ง Diskpart
  • LIST DISK แสดงรายการจำนวนฮาร์ดดิสก์ทั้งหมด
  • SELECT DISK 0 เลือกฮาร์ดดิสก์ที่ต้องการ
  • LIST PARTITION แสดงรายการพาร์ทิชั่น/ไดรฟ์ทั้งหมด
  • SELECT PARTITION 1 สั่งให้ Diskpart จับพาร์ทิชั่นที่ 1 เอาไว้
  • DELETE PARTITION สั่งลบพาร์ทิชั่นที่ 1
  • SELECT PARTITION 2 สั่งให้ Diskpart จับพาร์ทิชั่นที่ 2 เอาไว้
  • DELETE PARTITION สั่งลบพาร์ทิชั่นที่ 2
  • CREATE PARTITION PRIMARY สร้างพาร์ทิชั่น Primary ขึ้นมาใหม่ ก็จะเป็นไดรฟ์ C สำหรับติดตั้ง Windows ใหม่นั่นเอง
  • LIST PARTITION แสดงรายการพาร์ทิชั่น/ไดรฟ์ทั้งหมด
  • SELECT PARTITION 1 เลือกพาร์ทิชั่น/ไดรฟ์ที่ 1
  • ACTIVE สั่งไดรฟ์นี้ให้ Active Partition เพราะถ้าไม่สั่ง Active เมื่อติดตั้ง Windows ผ่านไปบางขั้นตอน แล้วรีสตาร์ทใหม่ จะไม่สามารถบูตเข้าสู่ระบบได้
  • FORMAT FS=NTFS LABEL=ชื่อไดรฟ์ตามต้องการ QUICK สั่งฟอร์แมตพาร์ทิชั่นให้มีรูปแบบไฟล์ซิสเต็ม NTFS, กำหนดชื่อไดรฟ์ด้วย LABEL และเป็นการฟอร์แมตอย่างรวดเร็ว
  • ASSIGN LETTER=C กำหนดให้พาร์ทิชั่น/ไดรฟ์นี้เป็นไดรฟ์ C
  • LIST PARTITION แสดงรายการพาร์ทิชั่นทั้งหมดอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจ
  • EXIT ออกจากคำสั่ง Diskpart
  • EXIT ออกจากหน้าต่าง Command Prompt

เมื่อจัดการกับพาร์ทิชั่นที่จะเอาไว้ติดตั้ง Windows 10 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็กลับมาที่หน้าจอเลือกไดรฟ์ ก็ให้กดปุ่ม Refresh 1 ครั้ง แล้วคลิกเลือก Drive 0 Partition 1 + กด Next ติดตั้ง Windows 10 ตามปกติ

———————————————————

หลังจากนี้ก็เพียงแต่รอ รอ และ รอ จนกว่าระบบจะติดตั้ง Windows 10 จนเสร็จครับ

ขั้นตอนต่อไปสำหรับมือใหม่

คำสั่งอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับ Diskpart เพื่อนๆสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากที่นี่



1 ความคิดเห็น

คุณคิดเห็นอย่างไรกับข่าว/บทความนี้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่