สวัสดีเพื่อนๆสมาชิกเว็บ VPC กันอีกครั้งนะครับ สำหรับวันนี้เราออกมาตากอากาศนอกพื้นที่กันบ้าง หลังจากอุดอู้อยู่กับการทำงานในเมืองกรุง มาชื่นชมความงามของวิวทิวทัศน์ที่ห่างไกลความวุ่นวาย มาอยู่กับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นวิวสวยๆของภูเขา หรือน้ำทะเลใสๆรอบเกาะภูเก็ต มาสูดอากาศบริสุทธิ์กันเสียหน่อย และวันนี้ทาง VPC Lab ก็ได้มาทำธุระที่เกาะแห่งนี้ ด้วยความบังเอิญก็ได้พกพาโน้ตบุคสุดสวยอย่าง Asus N53SV มาเที่ยวที่นี่ด้วยครับ ทำให้ได้โอกาสยกกองถ่ายมาเก็บภาพโน้ตบุครุ่นนี้ผสมผสานกับบรรยากาศดีๆ ณ ที่เกาะแห่งนี้ด้วย (จริงๆไม่ได้มาถ่ายกันหลายคนนะ มาแค่คนเดียว และมีหนุ่มสาวเกาหลี, ญี่ปุ่น, ฝรั่ง เดินมาดูเพื่อให้หายสงสัยกันยกใหญ่เลยทีเดียว อิอิ เล่นเอาตากล้อง ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเลย 555+)
สำหรับเพื่อนๆท่านใดต้องการรับชมบรรยากาศดีๆและวิวทิวทัศน์สวยๆเพิ่มเติม สามารถติดตามต่อได้ที่นี่ครับ คลิก
Specification
ASUS N53SV
| |
Processor | Intel Core i7 2720QM @ 2.2GHz |
Mainboard | Intel ID0104 |
Memory | Samsung 4GB, PC-10700, max 16GB |
Graphics adapter | NVIDIA GeForce GT 540M – 1024 MB, Core: 672 MHz, Memory: 900 MHz, DDR3 VRAM, Shader 1344 MHz |
Display | 15.6 inch 16:9, 1366×768 pixel, Samsung SEC5441, glossy: yes |
Harddisk | Seagate ST9500420AS, 500GB 7200rpm 500GB/7200rpm |
Soundcard | HD Audio |
Connections | 3 x USB 2.0, 1 x USB 3.0, 1 VGA, 1 HDMI, Audio Connections: 1, Card Reader: 5in1 |
Network | Realtek RTL8168/8111 Gigabit-LAN, Atheros AR9002WB-1NG Wireless Network Adapter (bgn), 2.0 Bluetooth |
Optical drive | Slimtype BD E DS4E1S |
Size | H x W x D (mm) = 40 x 391 x 266) |
Weight | 2.9 Kg |
Battery | Lithium-ion 6 Cell, 4400mAh, 10.8v, 48Wh |
Operating System | Microsoft Windows 7 Ultimate 64 Bit |
Additional features | Webcam 2.0 Megapixel |
Product Gallery
Asus N53SV ตัวนี้จะถูกออกแบบมาเพื่อเน้นความบันเทิงได้อย่างเต็มรูปแบบ และเหมาะสำหรับการใช้งานที่ค่อนข้างจะหลากหลาย โดยเฉพาะงานทางด้านมัลติมีเดีย รวมทั้งรูปทรงที่ดูแข็งแรง เหมาะกับการพกพาเคียงข้างกายไปได้ทุกที่ครับ โดยด้านบนของฝาเครื่องจะนำวัสดุอย่างแมกนีเซียมมาใช้งาน ป้องกันรอยขีดข่วน และด้านล่างจะออกแบบด้วยพลาสติกสีดำผสมผสานกันได้เป็นอย่างดี
ด้านหลังของตัวเครื่อง (ด้านซ้าย) จะมีพอร์ต D-Sub สำหรับต่อออกจอมอนิเตอร์ แอบไว้ให้ 1 ช่อง พร้อมช่องล็อคกันขโมยด้วย
ด้านหลังของตัวเครื่อง (ด้านขวา) จะมีช่องสำหรับเสียบอะแด็ปเตอร์
มุมซ้ายของแป้นพิมพ์ จะมีสติ๊กเกอร์ซีพียู บ่งบอกไว้ว่า ASUS N53SV รุ่นนี้ใช้ซีพียู Intel Core i7 ที่มาพร้อมกับโค้ดเนมอย่าง Sandy Bridge และเป็นยุคที่ 2 ของตระกูล Core i Series ด้วยครับ
มุมขวาของแป้นพิมพ์ โน้ตบุครุ่นนี้เลือกใช้ระบบเสียงจาก Bang & Olufsen ICEpower ที่จะทำให้น้ำเสียงที่ปล่อยออกมา ทรงพลัง แน่น ลึก มีคุณภาพแบบสุดๆ
Touchpad ที่ถูกออกแบบมาให้ดูแบบเรียบๆ แต่ปุ่มคลิกซ้าย/ขวา จะเคลือบสารกันรอยที่สามารถป้องกันรอยขีดข่วน, จากแรงกดหากใช้งานบ่อยๆ หรือหากใช้งานไปนานๆไม่ให้เกิดรอยหมองได้ และตำแหน่งถัดลงมา จะมีไฟ LED บ่งบอกสถานะการทำงานต่างๆของเครื่องเอาไว้ด้วย
5 ปุ่ม Hot Key ทางด้านซ้าย จะประกอบไปด้วย ปุ่มคีย์ปุ่มแรกสำหรับเลือกสลับการทำงานในโหมด High Performance, Entertainment Mode, Quiet Office และ Battery Saving ดัง 4 รูปตัวอย่าง ปุ่มถัดไป จะเป็นปุ่มปิดเสียงชั่วคราว, ปุ่มลดเสียง, เพิ่มเสียง และปุ่มเลือกเล่น, หยุดเพลงหรือไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ
5 ปุ่มคีย์สำหรับสลับการทำงานในโหมด High Performance, Entertainment Mode, Quiet Office และ Battery Saving
4 ปุ่มทางด้านขวา ก็จะเป็นในส่วนของปุ่มเปิด/ปิดเครื่อง, ล็อค, ปลดล็อคเครื่อง
หน้าตาของลำโพงที่เมื่อมองแล้ว ค่อนข้างจะอลังการเอามากๆ เพราะ Asus N Series จะนำเทคโนโลยี SonicMaster ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของทางเอซุส ด้วยการพัฒนาโดยทีม RD & ID และ Bang & Olufsen ICEpower มาใส่เอาไว้ด้วย เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพทางด้านเสียงบนโน้ตบุคมีประสิทธิภาพที่ดีมากที่สุด
สำหรับปุ่มกดบนแป้นพิมพ์ หลายๆท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมปุ่มกดถึงมีแต่ภาษาอังกฤษ เนื่องจากเครื่องนี้ถูกส่งมาจากเมืองนอกโดยตรง จึงยังไม่มีการสกรีนตัวอักษรภาษาไทยเพิ่มเข้ามาให้ครับ
บานพับหน้าจอขึ้น-ลง สำหรับ N53SV รุ่นนี้ ออกแบบมาได้ค่อนข้างแข็งแรงมาก
ทางด้านซ้ายจะมีพอร์ตมาให้ต่อใช้งานได้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น แจ็คเสียบไมโครโฟน, หูฟัง, USB 2.0 x 2 ช่อง, ไดรฟ์ Combo Bluray (Slimtype BD E DS4E1S) และสวิตซ์สำหรับเปิด/ปิดการใช้งานบลูทูธ/ไวเลสแลน
ทางด้านซ้ายจะมีช่องต่อ HDMI, Gigabit-LAN (10/100/1000MBit), Card Reader (5 in 1), USB 2.0 x 1 ช่อง, USB 3.0 x 1 ช่อง
ถัดขึ้นมาอีกนิด ก็จะมีช่องระบายความร้อนด้วยพัดลมที่อยู่ใต้ตัวเครื่อง ถ้าหากเอามือไปวางทาบ จะพบว่าความร้อนจะไม่ร้อนมากจนถึงกับจับต้องไม่ได้ครับ เรื่องความร้อนที่ถูกขับออกมา แทบจะไม่น่าเป็นห่วงเลย
กล้องเว็บแคมที่มีแถบเลื่อนเปิด/ปิดได้ พร้อมกับความละเอียด 2.0Mega Pixel ที่สามารถเก็บภาพผู้ใช้งานกับการใช้โปรแกรม Windows Live Messenger หรือโปรแกรมที่เกี่ยวข้องได้ค่อนข้างชัดเจน ถือว่ามีความละเอียดที่ค่อนข้างสูงกว่าโน้ตบุคธรรมดาทั่วไป และทางด้านขวาก็มีไมโครโฟนมาให้ด้วย
อีกหนึ่งมุมมองทางด้านข้าง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความบางของหน้าจอ
แบตเตอรี่ชนิด Lithium-ion แบบ 6 Cell, 4400mAh, 10.8v, 48Wh
เมื่อกดปุ่มเปิดเครื่องขึ้นมาในครั้งแรกก็จะพบกับหน้าจอ ASUS Express Gate Cloud จะเป็นอีกหนึ่งระบบปฏิบัติการที่ถูกนำมาใช้เพื่อรองรับการฟังเพลง, ใช้อินเตอร์เน็ต, เล่นเกมส์ หรือแม้แต่การเรียกดูไฟล์ภาพ มัลติมีเดีย สำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว โดยไม่ต้องบูตเข้าไปเรียกใช้งานระบบปฏิบัติการหลักให้เสียเวลา
แต่ถ้าไม่ต้องการใช้งานระบบ ASUS Express Gate ล่ะก็ เราสามารถกดปุ่มลูกศรที่มุมขวาล่างของหน้าจอเพื่อบูตเข้าสู่ระบบปฏิบัติการ หลักได้ที่นี่ครับ
น้ำหนักตัวเครื่องรวมแบตเตอรี่ จะอยู่ที่ 2.9 กิโลกรัม
เมื่อนำอะแด็ปเตอร์และสายไฟ AC มาชั่งน้ำหนักรวมกันด้วยแล้ว น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นไปอีกประมาณ 700 กรัมครับ
ซอฟต์แวร์บางส่วนที่มีมาให้อย่าง ASUS Utility
ซอฟต์แวร์ ASUS SonicMaster เมื่อขับพลังเสียงผ่านชุด Bang & Olufsen ICEpower จะทำให้การควบคุมระบบเสียงเป็นไปได้อย่างทรงประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจากที่ผมได้ทดลองเปิดเพลงฟังหรือแม้แต่การดูหนัง ก็พบว่าเสียงที่ขับออกมานั้นอยู่ในระดับเกณฑ์ดีค่อนข้างสูงใช้ได้เลยครับ เรียกได้ว่า ถ้าเทียบกับโน้ตบุคในรุ่นอื่นๆหรือยี่ห้ออื่นๆ ไม่เป็นรองใครเลย
โปรแกรมเสริมจากทาง Cyberlink อย่าง MediaEspresso ที่เมื่อดับเบิ้ลคลิกที่รูปถ้วยกาแฟ ก็จะมีหน้าจอให้สามารถเลือกดูคลิปโปรดได้
เมื่อเลื่อนสวิตซ์เปิด/ปิดสัญญาณ Wireless หรือ Bluetooth จะมีไอคอนโปรแกรมเล็กๆโชว์ขึ้นมาชั่วขณะ เพื่อให้เราเลือกคลิกใช้งานได้ทันทีอีกด้วย
System Information
เรามาดูการตรวจเช็คระบบปฏิบัติการขั้นพื้นฐานด้วยเครื่องมือที่มีมากับ Windows 7 กันบ้างครับ ว่าสามารถแสดงรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับตัวเครื่องได้บ้าง
Performance Information and Tools
รวมทั้งการวัดประสิทธิภาพด้วยเครื่องมือของระบบด้วยว่าจะได้คะแนนออกมาอยู่ในระดับใด
Screen Resolution
และหน้าจอที่สามารถรองรับการทำงานบนความละเอียดสูงสุดที่ 1366×768 กับความกว้างขนาด 15.6 นิ้ว
การตรวจสอบสเปคเครื่องด้วย CPU-Z ว่ามีรายละเอียดอะไรระบุเอาไว้บ้าง
Asus N53SV ขับเคลื่อนด้วยพลังซีพียู Intel Core i7-2720QM แบบ 4 คอร์และ 8 เทรดการทำงาน วิ่งที่ความเร็ว 2.2GHz และเป็นยุคที่ 2 ของ Intel Core i7 ด้วยครับ ที่เป็นเทคโนโลยีการผลิต 32nm อย่าง Sandy Bridge มาช่วยประมวลผล และที่สำคัญ ก็ได้เทคโนโลยีอย่าง Intel Turbo Boost 2.0 มาใส่รวมไว้ ทำให้การประมวลผลทำได้ดียิ่งขึ้นไปอีก โดยเมื่อระบบเจอกับการทำงานหนัก เทคโนโลยี Intel Turbo Boost ก็จะปรับความเร็วซีพียูให้วิ่งสูงสุดได้จนถึง 3.3GHz เลยทีเดียว แรงใช่เล่นเลยนะเนี่ย
ถัดมาจะเป็นหน้าจอการตรวจสอบรายละเอียดบนสเปคกราฟิคการ์ดอย่าง Nvidia Optimus รุ่น Nvidia GeForce GT 540M ที่เมื่อมีการใช้งานกราฟิคสูงขึ้น ระบบจะสลับการทำงานจากกราฟิคออนบอร์ดมาเป็นกราฟิคแยกให้อัตโนมัติ
เรามาเช็คดูรายละเอียดแบบลึกๆของ Nvidia GeForce GT 540M ด้วย AIDA64 กันบ้างครับ
Intel Graphics and Media Control Panel
และหน้าต่างการปรับแต่งรายละเอียดพื้นฐานของกราฟิคออนบอร์ดอย่าง Intel HD 3000
เราสามารถปรับแต่งการตั้งค่าให้เหมาะสมต่อการใช้งาน ในยามที่มีการสลับหน้าจอการทำงานกับการใช้งานทั่วไป ผ่านโปรแกรมควบคุมตัวนี้ได้ครับ
การตรวจสอบรายละเอียดสำหรับ Intel HD Graphics 3000
เรามาดูการทดสอบด้วยโปรแกรมเบนซ์มาร์คต่างๆว่าประสิทธิภาพจะอยู่ในระดับใดกันบ้างครับ
Hyper Pi
การทดสอบด้วยการหาค่า Pi (พาย) โดยวัดจากตำแหน่งหลังจุดทศนิยมที่ขนาด 1M (หรือ 1 ล้านตำแหน่ง) บนซีพียู Intel Core i7-2720QM แบบแยกแต่ละคอร์ จะใช้เวลาไปทั้งสิ้นประมาณ 19.172 วินาทีเท่านั้นเองครับ ถือได้ว่า ทำงานได้รวดเร็วมาก
ตรวจสอบสเปคฮาร์ดดิสต์อย่างละเอียดด้วย AIDA64
ผลการทดสอบด้วย HD Tune
ตัวฮาร์ดดิสต์ที่ถูกบรรจุมาพร้อมกับตัวเครื่อง จะมีขนาด 500GB ซึ่งเป็นยี่ห้อ Seagate รุ่น ST9500420AS มีความเร็วในการหมุนของจากแม่เหล็กอยู่ที่ 7200 รอบต่อนาที หลังจากทดสอบด้วยโปรแกรม HD Tune แล้วก็พบว่า ความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลต่ำสุดจะอยู่ที่ 36.1MB/s, ความเร็วการเข้าถึงข้อมูลสูงสุดอยู่ที่ 102.4MB/s และอัตราความเร็วเฉลี่ยจะวิ่งอยู่ที่ 75.4MB/s ในส่วนของความร้อนก็อยู่ประมาณ 40 องศา เรียกได้ว่าความร้อนอยู่ในระดับที่ดีพอสมควรครับ
CINEBENCH R11.5
คะแนนเบนซ์มาร์คที่เน้นทดสอบการเรนเดอร์ภาพสามารถทำออกมาได้อยู่ในระดับที่ดีมากเลยทีเดียวครับ
PCMark05
การทดสอบระบบโดยรวม และคะแนนแยกในแต่ละส่วน เช่น ซีพียู, แรม, กราฟิคการ์ด และฮาร์ดดิสต์ ที่สามารถทำแต้มออกมาได้ค่อนข้างสูงเหมือนกัน
3DMark06
และพลาดไม่ได้ครับกับโปรแกรมทดสอบ 3 มิติยอดฮิตอย่างโปรแกรมตัวนี้ ถ้าไม่ได้เอาผลมาลง ก็เหมือนจะขาดอะไรบางอย่างในชีวิตไป โดยถ้าดูจากคะแนนโดยรวม ก็พบว่าได้คะแนนที่ค่อนข้างสูงอีกเช่นเดียวกัน คะแนนผลที่ได้แบบโดยรวมจะอยู่ที่ 9104 แต้มเลยครับ
BatteryMon
เท่าที่ผมได้ลองเปิดเครื่องสำหรับการดูหนังเรื่อง Clash of the titan (ฟอร์แมต DVD ทั่วไป) ขณะที่อยู่ต่างจังหวัด และเป็นหนังที่อยู่ใน HDD External เรื่องเดียว พร้อมกับเปิดเสียงแบบดังเต็มที่ ก็พบว่าสามารถดูได้จนจบเรื่อง แถมยังเปิดเพลงฟังต่อเนื่องไปได้อีกประมาณ 20 นาทีครับ โดยรวมๆแล้วก็สามารถใช้งานดูหนัง, ฟังเพลงต่อเนื่องกันได้ประมาณ 2 ชม. นิดๆเลยทีเดียว
ตลอดระยะเวลาที่ได้ทำการทดสอบเจ้า ASUS N53SV ตัวนี้ก็พบว่าสามารถดึงดูดผู้ใช้งานอย่างผมได้ดีทีเดียวเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกใช้งานโปรแกรมต่างๆที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งก็เพราะได้พลังซีพียูแบบ 4 คอร์อย่าง Core i7 2720QM มาช่วยประมวลผล และแรมจำนวน 1 แผงที่มีความจุมาให้ถึง 4GB รวมทั้งความจุของฮาร์ดดิสต์ขนาด 500GB และที่สำคัญมีความเร็วของจานหมุนที่ 7200 รอบอีกด้วย และที่สำคัญก็คือ รูปลักษณ์ รูปทรงต่างๆรอบๆตัวเครื่อง ก็เน้นออกมาให้ดูสวยงาม แข็งแกร่ง ทำให้ค่อนข้างจะติดใจการทำงานเป็นอย่างมากครับ
และโน้ตบุค ASUS N53SV ตัวนี้ เท่าที่จับไปวางถ่ายทำบนแหลมพรหมเทพ บนเกาะภูเก็ต ก็พบว่ามีชาวต่างชาติที่ไปเก็บภาพบรรยากาศวิวทิวทัศน์หลายๆคนก็ให้ความสนใจ เดินเข้ามามุงดูกันเยอะเหมือนกันนะ เล่นเอาตากล้องอย่างผมเขินไปบ้างเหมือนกันครับ สำหรับวันนี้คงพอแค่นี้ก่อนนะครับ ไว้หากมีโอกาสได้เดินทางไปต่างจังหวัด และได้นำโน้ตบุครุ่นต่างๆไปอีก คงจะได้เก็บภาพบรรยากาศดีๆมาฝากกันอีกครับผม