วิธีทำ Windows 10 USB รองรับโหมด UEFI และ GPT Partition

1
10629
วิธีทำ Windows 10 USB รองรับโหมด UEFI และ GPT Partition
วิธีทำ Windows 10 USB รองรับโหมด UEFI และ GPT Partition

มาต่อกันที่บทความ วิธีทำ Windows 10 USB รองรับโหมด UEFI และ GPT Partition กันสักหน่อยครับ จากที่กาลครั้งก่อนโน้นนนน ทางเว็บไซต์ VarietyPC.net ก็เคยได้นำเสนอวิธีการทำ Windows 10 USB ที่ส่วนใหญ่ในหมวด Bootable CD & USB จะรองรับแค่การติดตั้งแบบ MBR Partition และโหมด UEFI เท่านั้น มาในบทความนี้ ก็จะขอย้อนกลับมาเขียนบทความเกี่ยวกับการจับเอา Windows 10 มาไว้ใน USB Drive หรือแฟลชไดรฟ์อีกสักบทความนึง แต่จะให้สามารถนำไปติดตั้งลงบนฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ GPT Partition ได้ด้วยนั่นเองครับ

ไหนๆก็ไหนๆล่ะ ก่อนจะไปที่ขั้นตอนการทำ เราก็จะมาทำความเข้าใจกับโหมด UEFI และไดรฟ์ GPT Partition กันสักเล็กน้อย ว่าเจ้า 2 ตัวนี้คืออะไร

โหมด UEFI หรือ EFI ย่อมาจาก Unified Extensible Firmware Interface

ก็จะเป็นส่วนที่ถูกออกแบบเอาไว้สำหรับติดต่อกับเฟิร์มแวร์มาตรฐานสำหรับคอมพิวเตอร์พีซี หลักๆก็อย่างเช่น มาเธอร์บอร์ด หรือ ที่เรียกกันติดปากว่าเมนบอร์ด เพื่อใช้แทน BIOS (Basic Input/Output System) รุ่นเก่า โดยมาตรฐานนี้ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัทด้านเทคโนโลยีมากกว่า 140 บริษัท โดยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัท UEFI และไมโครซอฟท์ก็เช่นเดียวกันด้วย ซึ่ง UEFI ก็ได้ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อปรับปรุงความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างตัว ซอฟต์แวร์กับฮาร์ดแวร์ และเพื่อแก้ไขข้อจำกัดต่างๆของ BIOS รุ่นเก่านั่นเอง

ส่วนไดรฟ์ GPT Partition หรือ GUID Partition Table

จะเป็นพาร์ทิชั่นที่กำลังจะมาแทนที่พาร์ทิชั่นแบบ MBR (Master Boot Record) (จริงๆก็ไม่ใช่ว่ากำลังจะมาหรอก แต่มาแล้วนี่แหละ) และขณะเดียวกันก็ยังสามารถทำงานร่วมกันกับระบบ UEFI (Unified Extensible Firmware Interface) ที่มาแทนส่วนควบคุมฮาร์ดแวร์รุ่นเก่าอย่าง BIOS (Basic Input/Output System) ทั้งนี้ GPT Partition ก็ยังมีข้อดีเพิ่มเติมขึ้นมาที่เห็นได้ชัดเลย ก็คือ สามารถใช้งานร่วมกับฮาร์ดดิสก์ที่มีขนาดใหญ่กว่า 2.2 Terabyte และยังสามารถแบ่งพาร์ทิชั่นได้เยอะสุดถึง 128 พาร์ทิชั่นอีกด้วย

ดังนั้นเรามาเข้าเรื่องของการจับเอาไฟล์อิมเมจ Windows 10 มาใส่ใน USB Drive หรือแฟลชไดรฟ์ (หรือเรียกติดปากก็คือ Windows 10 USB) ให้ใช้งานได้กับโหมด UEFI และติดตั้งกับไดรฟ์ GPT Partition ได้ด้วย ซึ่งการที่จะทำ Windows 10 USB ที่ว่ามาเยอะแยะด้านบนเนี่ย ก็ต้องพึ่งเครื่องมือกันเล็กน้อย นั่นก็คือ Rufus ซึ่งเวอร์ชั่นที่ผมนำมาเขียนบทความอยู่นี่ จะเป็นเวอร์ชั่น 3.1.1320 ครับ โดยตัวโปรแกรม Rufus ก็จะเป็นโปรแกรมอรรถประโยชน์ที่ช่วยในเรื่องของการจัดรูปแบบและสร้างไดรฟ์ USB สำหรับเป็นตัวติดตั้งระบบปฏิบัติการจากไฟล์ Bootable ISO ซึ่งระบบปฏิบัติการที่สามารถจับมาใส่ใน USB หรือแฟลชไดรฟ์ได้ ก็ยกตัวอย่างเช่น Windows, Linux, UEFI เป็นต้น

โดยเมื่อเราดาวน์โหลดตัวโปรแกรมมาแล้ว สิ่งที่เราต้องมีเพิ่มเติมก็คือ ไฟล์ติดตั้ง Windows 10 ซึ่งเป็นไฟล์อิมเมจ .ISO โดยไฟล์ที่ว่านี้สามารถหาได้จาก… (ขอไม่บอกละกัน ละไว้ เพราะหากันได้ไม่ยากครับ อิอิ)

เมื่อเราได้ตัวโปรแกรมมาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องติดตั้งลงบนคอมพิวเตอร์ของเรา สามารถดับเบิ้ลคลิกเปิดขึ้นมาใช้งานได้เลย และส่วนที่จำเป็นต้องตั้งค่ากันเล็กน้อยก็คือ

ปุ่ม Select สำหรับเลือกไฟล์ติดตั้ง Windows 10 ซึ่งเป็นไฟล์อิมเมจ .ISO

จะกด Checksums เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของไฟล์อิมเมจดูสักหน่อยก็ได้

ต่อมาก็เลือก Partition scheme ให้เป็น GPT ส่วน Target system จะถูกเปลี่ยนให้เป็นโหมด UEFI (non CSM) อยู่แล้ว และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงส่วนนี้ได้

ที่ Format Options -> Volume label ตั้งเป็นชื่ออะไรก็ได้ตามใจ ส่วน File system ก็เลือกเป็น FAT32 (Default) ก็พอ (ในกรณีที่ไฟล์อิมเมจ .ISO ขนาดน้อยกว่า 4GB) แต่ถ้าเป็นไฟล์อิมเมจ Windows 10 แบบ AIO จะมีขนาดเกิน 4GB ตัวโปรแกรมจะกำหนดหัวข้อ File system ให้เป็น NTFS โดยอัตโนมัติ แม้จะเลือกกลับเป็น FAT32 โปรแกรมก็จะไม่ยอมให้ทำการติดตั้งอยู่ดี เพราะ FAT32 อ่านไฟล์อิมเมจขนาดใหญ่กว่า 4GB ไม่ได้

ที่หัวข้อ List USB Hard Drives ถ้าเราติ๊กเครื่องหมายถูก ก็จะสามารถเลือกอุปกรณ์ USB ที่จะทำการติดตั้ง Windows 10 ให้เป็น Bootable USB ได้ (สำหรับกรณีที่เพื่อนๆเสียบแฟลชไดรฟ์มากกว่า 1 ตัว ณ เวลานั้น) ทั้งนี้แฟลชไดรฟ์ที่เราจะนำมาทำเป็นตัวติดตั้ง Windows 10 ต้องมีความจุขั้นต่ำ 4GB แต่ถ้าเป็นไปได้ผมแนะนำเป็น 8GB นะครับ เพราะ Windows 10 AIO บางรุ่นจะมีขนาดไฟล์ก็เกือบ 5GB ไปแล้ว

เมื่อกำหนดค่าต่างๆเสร็จแล้ว ก็กดปุ่ม Start ได้เลย แล้วจะมีหน้าต่างยืนยัน ก็กด OK แต่ทั้งนี้ต้องมั่นใจว่าในแฟลชไดรฟ์ของเราไม่มีไฟล์งานสำคัญเก็บอยู่นะครับ เพราะจะมีการฟอร์แมตแฟลชไดรฟ์ใหม่ทั้งหมด หลังจากนี้ก็เพียงแต่รอจนกว่าตัวโปรแกรม Rufus จะทำการเขียนไฟล์ติดตั้ง Windows 10 จนเสร็จ แล้วสามารถนำเอาแฟลชไดรฟ์ตัวนี้ไปติดตั้ง Windows กับคอมพิวเตอร์ที่ต้องการได้เลย



บทความก่อนหน้านี้วิธีกู้ข้อมูล หาก Windows 10 ไม่บูต และต้องติดตั้งใหม่
บทความถัดไปวิธีทำ MultiBoot USB ให้ Windows 10 และ Hiren’s Boot ไว้ในตัวเดียวกัน
varietypc
ส่วนตัวชื่นชอบการเขียน, พัฒนาซอร์สโค้ดเว็บไซต์เป็นชีวิตจิตใจ ตลอดจนถึงอัพเดตเนื้อหาทริค, เทคนิคคอมพิวเตอร์ และข่าวสารเทคโนโลยีทุกอย่าง นอกเหนือจากการเคลียร์งานหลักเสร็จเรียบร้อย ก็จะมาทิ้งชีวิตให้กับ VarietyPC.net กันต่อแทบทุกวัน แต่บางครั้งอาจจะไม่ได้อัพเดตเนื้อหา เพราะต้องพัฒนาระบบการจัดการ Backend หลังบ้านไปด้วยและมีคนทำเพียงคนเดียว แม้จะไม่ได้รับผลตอบแทนจากแหล่งใดๆก็ตาม ตอนนี้เว็บไซต์เล็กๆแห่งนี้ก็ใกล้ย่างเข้าปีที่ 13 แล้วครับ และจะยังคงอยู่แชร์ความรู้กับพี่น้อง เพื่อนๆคนไทย และทั่วโลกตลอดไปครับ

1 ความคิดเห็น

คุณคิดเห็นอย่างไรกับข่าว/บทความนี้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่