สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เตรียมเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา” หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบแห่งที่ 3 ของไทย ศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการที่สำคัญของภาคใต้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิด วันที่ 25 กรกฎาคม 2562 พร้อมให้บริการประชาชนตั้งแต่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา” หรือหอดูดาวภูมิภาคสงขลา เป็นหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบแห่งที่ 3 ของประเทศไทย ด้วยตำแหน่งที่ตั้งในภาคใต้ บริเวณละติจูด 7 องศาเหนือ ส่งผลให้หอดูดาวแห่งนี้ มีจุดเด่นคือ สามารถศึกษาวัตถุในซีกฟ้าใต้ได้ดีกว่าหอดูดาวในภูมิภาคอื่น และยังสามารถสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในช่วงฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนได้ เนื่องจากสภาพท้องฟ้าของภาคใต้ในเวลานั้นเอื้ออำนวยต่อการสังเกตการณ์ทาง ดาราศาสตร์มากกว่าภูมิภาคอื่น

หอดูดาวภูมิภาคสงขลายามค่ำคืน

อ. เฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา กล่าวเพิ่มเติมว่า หอดูดาวภูมิภาคสงขลา ไม่เพียงเป็นแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์เต็มรูปแบบแห่งแรกของภาคใต้ แต่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์มุสลิมแห่งแรกของไทย มีพันธกิจในการร่วมสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการกำหนดเวลาที่ใช้ในพิธีทางศาสนาอิสลาม อันเป็นการสนับสนุนภารกิจของสำนักจุฬาราชมนตรีอีกด้วย และด้วยทำเลที่ตั้งบนเขารูปช้าง จากหอดูดาวสามารถมองเห็นทะเลสองฝั่ง มีทัศนียภาพที่โดดเด่นสวยงาม คาดว่าจะเป็นแลนด์มาร์คการเรียนรู้ดาราศาสตร์แห่งใหม่ของภาคใต้ที่ช่วยเปิดประสบการณ์ด้านดาราศาสตร์ให้กับเยาวชน ประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สำหรับการเปิดให้บริการ หอดูดาวภูมิภาคสงขลา จะเปิดให้บริการแก่ประชาชนในวันที่ 1 สิงหาคม 2562 โดยเปิดให้บริการวันอังคาร – อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

ทั้งนี้ สดร. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา” อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้ สดร. ก้าวสู่การดำเนินงานเป็นปีที่ 11 ที่ผ่านมาเราได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดาราศาสตร์ในประเทศมากมาย อาทิ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร หอดูดาวแห่งชาติ รวมทั้งกำลังจัดสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยระดับประเทศ ขณะเดียวกันเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์สู่สังคมไทยอย่างทั่วถึง ดึงให้คนไทยสนใจใฝ่รู้วิทยาศาสตร์ และเน้นการให้บริการแก่ประชาชนโดยเฉพาะ สดร. มีแผนจัดสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบ 5 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ขอนแก่น และพิษณุโลก ก่อนหน้านี้ ได้เปิดให้บริการแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และฉะเชิงเทรา โดยได้ให้บริการวิชาการด้านดาราศาสตร์แก่ประชาชนในท้องถิ่นและใกล้เคียง สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาและค้นคว้าวิจัย รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของภูมิภาค

โครงสร้างหลักของหอดูดาวภูมิภาค ได้แก่ อาคารหอดูดาว ประกอบด้วย โดมไฟเบอร์กลาสทรงเปลือกหอย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 ฟุต สามารถเปิดออกได้ 180 องศา สังเกตท้องฟ้าได้รอบทิศทาง ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร อาคารฉายดาว มีโดมฉายดาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร ติดตั้งเครื่องฉายดาวระบบฟูลโดม ดิจิทัล ความละเอียด 25 ล้านพิกเซล ให้บริการท้องฟ้าจำลอง และ 14 โซนนิทรรศการความรู้ดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์

ข้อมูลเพิ่มเติม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ fan page



1 ความคิดเห็น

คุณคิดเห็นอย่างไรกับข่าว/บทความนี้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่