SmartPhone

วิธีแชร์ไฟล์มีเดียบนคอมพิวเตอร์, เน็ตเวิร์ค ให้สมาร์ทโฟนใช้งานได้

ก็ห่างหายกันไปสักพักใหญ่นะครับกับการอัพเดตบทความบนเว็บไซต์ VarietyPC.net ก็เนื่องจากคนดูแลเว็บไซต์นี้ได้เปลี่ยนอาชีพไปดูแลงานทางด้านอาหารแทน ทำให้มีเวลาให้กับเว็บไซต์น้อยลง แต่จริงๆก็ไม่ได้ทิ้้งบ้านหลังนี้ไปเลยซะทีเดียว เพราะเวลาว่างๆหลังเคลียร์งานร้านเสร็จแล้ว ก็จะแว้บมาคอยตรวจสอบและอัพเดตระบบหลังบ้านกันเกือบทุกวันครับ

สำหรับวันนี้ทางเว็บไซต์เราก็มีโอกาสได้นำความรู้ดีๆมาฝากกันสักเล็กน้อย กับ เทคนิคแชร์ไฟล์มีเดียบนคอมพิวเตอร์, เน็ตเวิร์ค ให้สมาร์ทโฟนใช้งานได้ ซึ่งการแชร์ไฟล์จากคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คที่ให้สามารถนำเอาสมาร์ทโฟนมาดึงไฟล์ที่อยู่ภายในไปใช้งานร่วมกันได้ด้วย จริงๆแล้ว ไม่ใช่เฉพาะไฟล์ประเภทมัลติมีเดียเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงไฟล์งาน, ไฟล์เอกสารต่างๆที่อยู่ในคอมพิวเตอร์เดสก์ทอปหรือโน้ตบุคที่เราใช้งานกันภายในบ้านหรือในสำนักงานต่างๆ และมีการเชื่อมต่อกันบนระบบเน็ตเวิร์คภายใน (ระบบแลนและระบบไวเลสไร้สาย) และมีการเปิดแชร์ไฟล์, โฟลเดอร์เอาไว้ โดยปกติจะไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าหากต้องการให้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตดึงไฟล์ต่างๆที่มีการแชร์เอาไว้ไปใช้งาน จำเป็นต้องตั้งค่าเพิ่มเติมในอุปกรณ์ดังกล่าวกันเล็กน้อย

บางท่านอาจจะสงสัยว่า ก็ในเมื่อเราก็มีคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คอยู่แล้ว ก็ดูหนังหรือเล่นไฟล์มัลติมีเดียบนอุปกรณ์ดังกล่าวเสียเลยสิ จะแชร์ไฟล์เพื่อไปเปิดกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตอีกทำไมแถมหน้าจอเล็กกว่าด้วย ตรงนี้จริงๆก็ขึ้นอยู่กับทรัพยากรหรืออุปกรณ์ที่เรามี เพราะบางทีคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คอาจมีจำนวนจำกัดในบ้านนั้นๆ แต่ผู้ใช้อีกคนก็อยากดูหนังหรือทำงานอื่นๆผ่านสมาร์ทโฟนแทน หรือบางคนก็ติดสมาร์ทโฟนเสียมากกว่า แล้วเปิดคอมพิวเตอร์เอาไว้ให้ระบบทำงานอย่างอื่นแทน หรืออาจจะอยากดูหนังที่โหลดเอาไว้บนที่นอน เข้าห้องน้ำ แล้วเอาสมาร์ทโฟนเข้าไปจะทำได้สะดวกกว่า เป็นต้น

ทั้งนี้สำหรับผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์มือใหม่ก็จำเป็นต้องตั้งค่าการแชร์ไฟล์หรือแชร์โฟลเดอร์บนคอมพิวเตอร์ของเราก่อนด้วยวิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

โดยคลิกเลือกไฟล์หรือโฟลเดอร์ที่ต้องการสั่งแชร์ แล้วเลือก Properties

หน้าต่างกำหนดคุณสมบัติจะถูกเปิดขึ้นมา ให้คลิกแท็บ Sharing ที่หัวข้อ Network File and Folder Sharing แล้วกดปุ่ม Share

เลือกหัวข้อ Everyone เพื่อให้สิทธิ์เข้าถึงกับทุกคน แล้วกำหนด Permission Level เป็น Read (สำหรับให้คนที่เข้าถึงมีสิทธิ์อ่านอย่างเดียว) หรือ Read/Write (อ่าน/แก้ไขได้)

แต่ถ้าในรูปที่แล้ว ไม่มีหัวข้อ Everyone ให้ปุ่มลูกศร แล้วเลือกรายการ Everyone -> คลิกปุ่ม Add

แล้วคลิกเลือกโฟลเดอร์ที่ต้องการแชร์

แล้วคลิกปุ่ม Advanced Sharing

จำกัดจำนวนผู้ใช้งานที่จะให้เข้าถึงไฟล์หรือโฟลเดอร์ที่เราทำการแชร์เอาไว้ แล้วคลิกปุ่ม Permissions

ที่หัวข้อ Group or user names เลือก Everyone แล้วคลิก Apply -> OK

มาถึงส่วนที่สำคัญว่าเราต้องการให้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต สามารถเข้าถึงไฟล์หรือโฟลเดอร์ที่เราได้ทำการแชร์เอาไว้บนคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คบนระบบเน็ตเวิร์คของเรา ก็จำเป็นต้องติดตั้งแอพ FE File Explorer บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตภายใต้ระบบปฏิบัติการ Android ใน Google Play Store ของเราด้วย

Note. เท่าที่ผมลองแอพสำหรับเชื่อมต่อการแชร์ไฟล์มาหลายตัว มีความรู้สึกว่าแอพนี้จะทำงานได้ดีที่สุด ส่วนตัวอื่นๆบางตัวก็จะถูกจำกัดความเร็วการโอนถ่ายข้อมูลบ้าง, สแกนหาอุปกรณ์ต้นทางบนระบบเน็ตเวิร์คไม่เจอบ้าง

เมื่อทำการติดตั้งแอพ FE File Explorer เสร็จ แล้วเปิดแอพขึ้นมา ก็จะแสดงรายการโฟลเดอร์ต่างๆที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนของเรา แต่ตรงนี้ให้กดปุ่ม ” + ” เพื่อเพิ่มรายการอุปกรณ์สำหรับการเชื่อมต่อ

โดยเราสามารถเลือกได้ว่า ต้องการให้สมาร์ทโฟนของเราเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่มีการแชร์ไฟล์/โฟลเดอร์ตัวไหนบ้าง เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows, MacOS, Linux, Nas, External Storage, FTP/FTPS, SFTP, WebDAV, ownCloud, Google Drive, Dropbox, OneDrive เป็นต้น

แต่สำหรับบทความนี้ ผมจะทำการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows เอาไว้ และแอพ FE File Explorer ที่นำมาเขียนบทความจะเป็นรุ่นฟรี ซึ่งจะเชื่อมต่อได้เพียง 1 อุปกรณ์เท่านั้น ซึ่งถ้าหากเพื่อนๆต้องการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่สั่งแชร์ได้หลายตัว ต้องเสียเงิน 95 บาทเพื่อให้ได้แอพเป็นเวอร์ชั่นเต็มครับ

พอถึงหน้า New Connection ก็ให้ทำการใส่หมายเลข IP Address ของคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุค หรืออุปกรณ์สั่งแชร์ไฟล์,โฟลเดอร์อื่นๆเข้ามาที่ช่อง Host Name/IP แล้วใส่ชื่อบัญชีผู้ใช้ และ รหัสผ่าน เสร็จแล้วทำการกดปุ่มบันทึกข้อมูลทังหมดเอาไว้

ทั้งนี้สำหรับมือใหม่ หากไม่ทราบว่าคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุคที่เราได้ทำการแชร์ไฟล์, โฟลเดอร์ เอาไว้ มีหมายเลข IP Adress เป็นอะไร ก็สามารถตรวจสอบเพิ่มเติมได้จากบทความนี้

-> ความหมายของ IP Address, IPConfig และการใช้งานคำสั่ง Ping

ทั้งนี้ตัวแอพ FE File Explorer จะทำการสแกนอุปกรณ์เชื่อมต่อที่มีการสั่งแชร์ไฟล์, โฟลเดอร์ ที่อยู่ในวงแลนเดียวกันเอาไว้ให้ด้วย เราก็สามารถคลิกเลือกอุปกรณ์ดังกล่าวได้ที่หัวข้อ Network Neighbourhood ในหน้าเดียวกันก็ได้

แล้วกดบันทึกรหัสผ่านไปไว้ที่บัญชีผู้ใช้ Google หากผู้ใช้มีบัญชี Google อยู่ด้วย เวลาล็อกอินทุกครั้งจะได้ไม่ต้องใส่รหัสผ่านใหม่

กลับมาที่หน้าจอแอพหลัก ก็คลิกอุปกรณ์ที่ได้ทำการแชร์ข้อมูลเอาไว้ที่หัวข้อ Connections

ก็จะพบไฟล์หรือโฟลเดอร์ที่ได้ทำการแชร์เอาไว้ที่อุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุคต้นทาง

ในที่นี้เมื่อคลิกเข้ามาในโฟลเดอร์ที่สั่งแชร์เอาไว้ก็จะเป็นโฟลเดอร์หนังที่ผมดาวน์โหลดมาเก็บไว้เสียเป็นส่วนใหญ่ครับ

ทั้งนี้ถ้าหากต้องการเปิดไฟล์อะไรก็แล้วแต่ที่เราได้สั่งแชร์เอาไว้ในโฟลเดอร์นั้นๆก็ต้องมีแอพสำหรับเปิดไฟล์เหล่านั้นด้วย เช่น ไฟล์หนังที่มีนามสกุลเป็น .mkv ก็ต้องติดตั้งแอพ VLC for Android เอาไว้ด้วย ถึงจะเปิดไฟล์มัลติมีเดียหรือไฟล์หนังนั้นๆได้ครับผม

varietypc

ส่วนตัวชื่นชอบการเขียน, พัฒนาซอร์สโค้ดเว็บไซต์เป็นชีวิตจิตใจ ตลอดจนถึงอัพเดตเนื้อหาทริค, เทคนิคคอมพิวเตอร์ และข่าวสารเทคโนโลยีทุกอย่าง นอกเหนือจากการเคลียร์งานหลักเสร็จเรียบร้อย ก็จะมาทิ้งชีวิตให้กับ VarietyPC.net กันต่อแทบทุกวัน แต่บางครั้งอาจจะไม่ได้อัพเดตเนื้อหา เพราะต้องพัฒนาระบบการจัดการ Backend หลังบ้านไปด้วยและมีคนทำเพียงคนเดียว แม้จะไม่ได้รับผลตอบแทนจากแหล่งใดๆก็ตาม ตอนนี้เว็บไซต์เล็กๆแห่งนี้ก็ใกล้ย่างเข้าปีที่ 13 แล้วครับ และจะยังคงอยู่แชร์ความรู้กับพี่น้อง เพื่อนๆคนไทย และทั่วโลกตลอดไปครับ

View Comments

  • ขอบคุณมากครับ ผมหาวิธีทำแบบนี้อยู่พอดีเลยครับ และแอปนี้ใช้งานได้ดีจริง ๆ สามารถ share folder จากคอม แล้วมาเปิดในมือถือ สะดวกมาก ^^

    • ขอบคุณท่านที่แวะมาเยี่ยมชมเว็บไซต์เล็กๆแห่งนี้นะครับ