แอพฯ สอบใบขับขี่ Driving Licence และเทคนิคสอบภาคปฏิบัติ 2561

0
4739
แอพฯ สอบใบขับขี่ Driving Licence และเทคนิคสอบภาคปฏิบัติ 2561
แอพฯ สอบใบขับขี่ Driving Licence และเทคนิคสอบภาคปฏิบัติ 2561

สำหรับบทความแอพฯ สอบใบขับขี่ Driving Licence และเทคนิคสอบภาคปฏิบัติ 2561 แอพฯ สอบใบขับขี่ Driving Licence ถือเป็นอีกหนึ่งแอพพลิเคชั่นบนมือถือ, สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ที่น่าสนใจมากและช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับเพื่อนๆผู้ที่สนใจจะเตรียมตัวไปขอใบอนุญาตขับขี่รถยนต์, ใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือใบอนุญาตขับขี่รถประเภทอื่นๆ (เรียกสั้นๆแบบติดปากว่า สอบใบขับขี่ นั่นเอง) ซึ่งจำนวนข้อสอบข้อเขียนที่มีให้ในแอพลิเคชั่นตัวนี้จะเป็นแนวข้อสอบข้อเขียนตัวเดียวกันสำหรับใช้ในการสอบเพื่อขอใบอนุญาตขับขี่รถยนต์, ใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือใบอนุญาตขับขี่รถประเภทอื่นๆ

ในแอพฯ สอบใบขับขี่ Driving Licence ตัวนี้ เราสามารถเลือกสอบได้ครั้งละ 20 ข้อในแต่ละหมวดหมู่ หรือสอบครั้งละ 50 ข้อจากทุกหมวดหมู่ เทียบการสอบจริงจากข้อสอบของกรมการขนส่งทางบก (ในการเรียกใช้งาน ไม่ต้องต่ออินเตอร์เน็ตกับสมาร์ทโฟนก็ได้) โดยจะมีการสุ่มสอบจากข้อสอบทั้งหมดจำนวน 1,000 ข้อในทุกหมวดหมู่ที่แทบจะไม่ซ้ำกัน แต่อาจจะมีบางครั้งที่มีข้อสอบคล้ายคลึงกันบ้าง และข้อสอบบนแอพฯนี้จะมีเปอร์เซ็นต์ที่ออกสอบจริงประมาณ 90-95 % เลยทีเดียว (ที่เหลือก็สามารถอ่านได้ตามหนังสือคู่มือสอบใบขับขี่ หรือจากเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบกเพิ่มเติมได้ เช่น การเช็คลมยาง ควรทำในขณะที่ยางยังเย็นอยู่, การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ควรเปลี่ยนทุก 3,000 – 5,000 กม. ซึ่งที่ผมสอบจริงครั้งแรก 2 หัวข้อนี้ไม่เจอในแอพฯ หรืออาจจะมีแต่ไม่เคยเจอ ส่วนการสอบครั้งที่ 2 มีในแอพฯทั้งหมด)

Note 1 สอบข้อเขียน. ถ้าไม่ได้อ่าน ไม่ได้ศึกษาข้อสอบข้อเขียนเอาไว้ก่อนเนิ่นๆก็อย่าหวังไปตายเอาดาบหน้าจากการสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่กรมการขนส่งทางบกครับ เพราะ % ที่จะผ่านเกณฑ์ 45 ข้อในครั้งเดียวนั้นมีน้อยมาก และถ้าไม่ได้เตรียมตัวไปเลย ก็อย่าหวังไปอ่านจากคู่มือสอบที่เขาแจกในวันที่มีการอบรมล่ะ เพราะมีเวลาอ่านไม่กี่ชม. ซึ่งอาจจะมีง่วงบ้าง ไม่มีสมาธิบ้าง จำได้แต่จำได้ไม่หมดครับ และเร็วๆนี้กรมการขนส่งทางบกจะปรับเปลี่ยนกฏหมายสำหรับเพื่อนๆผู้ที่ต้องการสอบใบขับขี่ใหม่ จากปกติ มีการอบรม 4 ชม. สอบข้อเขียน 50 ข้อ เปลี่ยนเป็น อบรม 8 ชม. สอบข้อเขียน 100 ข้อ (อาจจะต้องให้สอบได้เต็มร้อย และอาจจะเริ่มใช้ในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2558) และปี 2559 จะเปลี่ยนชั่วโมงการอบรมจาก 8 ชม. เป็น 12 ชม. หรือ 15 ชม. เรียกได้ว่า กว่าจะได้ใบขับขี่ต้องเข้าไปอบรมที่กรมการขนส่งทางบกแทบจะทั้งสัปดาห์เลยก็เป็นได้ (กรมการขนส่งทางบก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ แจ้งเตือนมาอย่างนี้ ใครอยากได้ข้อสอบน้อยๆ ก็รีบเตรียมตัวและไปสอบที่กรมการขนส่งทางบกใกล้บ้านท่านเสียก่อนเลยครับ)

Note 2 สอบปฏิบัติ. หลายๆท่านที่คิดว่าตัวเองขับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์จนชำนาญบนถนนหลวงก็อาจต้องเตรียมตัวหรือศึกษาในเรื่องของการสอบ 3 ท่าหลักๆเช่น จอดเทียบฟุตบาท, ถอย 7 เกียร์ หรือการถอยหลังเข้าซอง และเดินหน้า-ถอยหลัง ทางแคบระยะทางยาว 9 เมตร (สำหรับรถยนต์) และการขับรถผ่านเครื่องหมายจราจร, ขับรถทางซิกแซก, ขับรถทรงตัวบนทางแคบ 30 เซ็นติเมตร ยาว 15 เมตร นานกว่า 10 วินาที (สำหรับจักรยานยนต์) ให้ดีๆ เพราะตกม้าตายในสนามสอบกันนักต่อนัก ทั้งนี้สามารถค้นหาจากคำบอกเล่าโดยผู้ที่มีประสบการณ์จากการสอบผ่านแล้วก็ได้ เวลาสอบให้ใจเย็นๆ ช้าๆไม่ต้องรีบ เดี๋ยวจะชงและลนจนสอบไม่ผ่าน ต้องเสียเวลาไปสอบแก้ตัวกันใหม่ในที่สุด

Driving-Licence-09
Driving-Licence-10

สอบภายใน 2 วัน ได้ 2 ใบ

google-play-store
app-store

Note 3. เห็นว่าแอพฯนี้เป็นประโยชน์ดี เพราะผมก็ไปสอบมาเมื่อวานนี้ วันพุธ (อบรม 4 ชม. + สอบปฏิบัติรถยนต์ช่วงเย็น) วันพฤหัสบดี (ช่วงเช้า สอบข้อเขียนรถยนต์ + สอบข้อเขียนรถจักรยานยนต์ (แยกสอบ) ข้อสอบ 50 ข้อ สุ่มมาจากจำนวนทั้งหมด 1,000 ข้อ และสอบปฏิบัติรถจักรยานยนต์ช่วงเที่ยง) ก็เลยอยากนำแอพฯที่น่าสนใจตัวนี้มาแนะนำต่อครับ (เล่นแอพฯนี้กันอยู่ 2 เดือน เพราะก่อนหน้านี้ไม่พร้อมที่จะไปสอบ) ท่านใดกำลังจะไปสอบใบขับขี่ ก็ขอให้โชคดี สอบผ่านรวดเดียวจบทุกท่านครับผม

เพิ่มเติม

การสอบภาคปฏิบัติ สำหรับ รถยนต์ ตรงนี้จะไม่มีสอนในการอบรม ผู้ควบคุมการสอบหรืออบรมจะอธิบายคร่าวๆเล็กๆน้อยๆเท่านั้น เพื่อนๆต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมเอาเอง หรือศึกษาข้อมูลด้านล่างนี้ได้เลย ผมสรุปเอาไว้ให้หมดแล้ว รับประกันผ่านรอบเดียวแน่นอนครับ (วันที่ไปสอบมีจำนวนผู้เข้าสอบทั้งหมด 30 คน แบ่งเป็นจักรยานยนต์ 12 คน และรถยนต์ 18 คน โดยเฉพาะสอบปฏิบัติรถยนต์ ผ่านแค่ 7 คนเท่านั้น ที่เหลือรอสอบใหม่ในเช้าวันรุ่งขึ้น วันไหนผ่านได้ถึง 5 คน ถือว่าเยอะแล้วครับ)

เทคนิค การจอดเทียบฟุตบาท ทุกความคิดเห็น แต่ผมใช้กระจกเล็กติดกระจกซ้ายและขวาช่วย เพราะจะช่วยให้มองเห็นด้านหลังจนเกือบถึงขอบประตูหน้าด้านล่าง และทดลองจอดติดฟุตบาทบนถนนจริง แล้วกะระยะด้วยสายตาระหว่างการนั่งหลังติดเบาะ มองลงไปที่มุมขอบล่างระหว่างฟุตบาทกับพื้นถนน แล้วสังเกตดูมุมด้านหน้าของรถว่าตรงกับส่วนใด หรือจะใช้แกนปัดน้ำฝนเป็นหลักก็ได้ (สายตา – แกนปัดน้ำฝน – มุมระหว่างฟุตบาทกับพื้นถนน) แล้วจดจำมุมนั้นเอาไว้เป็นหลักตลอดไปเลย
http://pantip.com/topic/30538513

เทคนิค การถอย 7 เกียร์ หรือการถอยหลังเข้าซอง ท่าปราบเซียนที่ใครๆก็ว่ายาก แม้จะขับรถเก่งขนาดไหน มาเจอสนามสอบกับท่านี้มีอันเป็นสั่นกันเลยทีเดียว แต่ถ้าได้ลองทำตามนี้ ถือว่าง่ายสุดๆ ตามความคิดเห็นที่ 5 จากเว็บบอร์ด thaimarch ถ้าได้เป๊ะแบบนี้ นั่งหลังติดเบาะ ไม่ต้องห่วงหน้า พะวงหลัง ด้านซ้ายหรือขวารถ เพราะการถอยจะใช้เกียร์ถอยหลัง และการสังเกตด้วยกระจกมองหลัง, กระจกซ้าย-ขวา, ให้ขนานกับเส้นจราจรซ้าย-ขวา แล้วสูดลมหายใจเข้า-ออกให้เต็มปอด เต็มที่ใช้แค่ 4 เกียร์ (ถ้ามีเวลาฝึกจนชำนาญ 2 เกียร์เหลือเฟือ) รับรองไม่มีถอยไปเกี่ยว ถอยไปชนเสา ไม่เบียดซ้าย ไม่ชิดขวา แต่รถจะอยู่ตรงกลางกรอบพอดี ผ่านชัวร์ (รถมินิ, รถเก๋ง, รถกระบะปิคอัพ ใช้วิธีเดียวกันหมด)
http://www.thaimarch.com/index.php?topic=6752.0
ตามความคิดเห็นที่ 5 เทียบวิดีโอคลิปชุดนี้
https://www.youtube.com/watch?v=fTU5uXQ3xY4

เทคนิค ขับรถเดินหน้า – ถอยหลัง ในทางแคบ ยาว 9 เมตร สำหรับท่านี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพราะทุกท่านที่ขับรถยนต์ก็ต้องขับเดินหน้าหรือถอยหลังกันตามปกติอยู่แล้ว
https://www.youtube.com/watch?v=LaEQ-bUQrUo

การสอบภาคปฏิบัติ สำหรับ รถจักรยานยนต์

ท่าที่ 1
https://www.youtube.com/watch?v=tVBLBXYxFSk

ท่าที่ 2
https://www.youtube.com/watch?v=nHPzm4YDp3E

ท่าที่ 3
https://www.youtube.com/watch?v=AHIESsLkBiA

ท่าที่ 4
https://www.youtube.com/watch?v=y4zDBZc-YoY

ท่าที่ 5
https://www.youtube.com/watch?v=fsxADDNZ3cQ

แต่ส่วนใหญ่จะใช้แค่ 3 ท่า ได้แก่ การขับรถผ่านเครื่องหมายจราจร, ขับรถทางซิกแซก, ขับรถทรงตัวบนทางแคบ 30 เซ็นติเมตร ยาว 15 เมตร นานกว่า 10 วินาที เป็นต้น

ก่อนจบบทความ ทั้งนี้ ผมขอแสดงความชื่นชมกับหน่วยงาน กรมการขนส่งทางบก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ที่ทำงานเพื่อประชาชนได้อย่างน่าประทับใจมาก โดยเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนี้ เท่าที่สังเกตจากการที่ผมไปใช้บริการตลอดทั้ง 2 วัน (ไม่ได้ยื่นเรื่องล่วงหน้าด้วยนะครับ ยื่นวันนั้นทำวันนั้นเลย) จะบริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว พยายามเคลียร์เรื่องต่างๆของประชาชนให้เป็นไปได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะหัวหน้าในหน่วยงานนี้ สามารถทำได้ทั้งเป็นเจ้าหน้าที่รับเรื่องเอง เป็นคนอบรมการสอบภาคทฤษฎีให้ประชาชนเอง (แต่ก็จะมีสลับเจ้าหน้าที่ท่านอื่นมาช่วยอบรมภาคทฤษฎีบ้าง เพราะท่านต้องสลับไปอบรมรถใหญ่ อย่างรถบรรทุก หรือรถพ่วงด้วย) หรือแม้แต่ควบคุมการสอบภาคปฏิบัติด้วยตนเอง ในช่วงเวลาพักเที่ยง เสร็จจากการอบรมช่วงเช้า ก็ต่อด้วยการเคลียร์สอบซ่อมภาคปฏิบัติสำหรับรถยนต์ และสอบขับรถจักรยานยนต์ต่อทันที อบรมช่วงบ่ายเสร็จก็ดูแลการสอบภาคปฏิบัติสำหรับคิวใหม่ในวันนั้นๆของช่วงเย็นต่อ ไม่ทราบว่าท่านเอาเวลาที่ไหนไปทานข้าว ส่วนเจ้าหน้าที่ท่านอื่นๆก็มีเวลาพักเที่ยงเพียงแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น กับการสลับกันไปทานข้าว เพื่อลดปัญหาประชาชนนั่งรอนาน เท่ากับว่า ประชาชนคนไหน ทำอะไรเสร็จก่อน ก็เร่งรีบเคลียร์รายนั้นให้เสร็จเร็วที่สุด ไม่มีประชาชนสะสมให้ต้องนั่งรอนาน ถ้าเทียบกับบางหน่วยงานแล้ว เวลา 12.00 – 13.00 น. ประชาชนต้องนั่งรอเท่านั้น ขอขอบพระคุณ พี่ๆเจ้าหน้าที่ทุกๆท่านภายในหน่วยงานที่คอยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกคน ใจดี และเป็นกันเอง มา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

อ้อ เกือบลืม สำหรับเพื่อนๆที่อยู่จังหวัดใกล้เคียงหรือถ้าอยู่ใน กรุงเทพมหานคร ได้ข่าวว่า เพื่อนๆที่ทำเรื่องส่วนใหญ่มักจะต้องรอคิวสอบกันข้ามเดือน บางที่ก็รอคิวสอบกัน 3 เดือนก็มี ถ้าหากรอไม่ไหว ก็แวะมาสอบที่ กรมการขนส่งทางบก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ กันได้นะครับ เขารับวันละ 30 คนเท่านั้น

เก็บตก ภาพสนามสอบภาคปฏิบัติบางส่วน

Driving-Licence-111
Driving-Licence-112
Driving-Licence-113


คุณคิดเห็นอย่างไรกับข่าว/บทความนี้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่